ในยุคที่แต่ละนาที ข้อมูลต่างๆถูกจัดเก็บเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สิ่งที่กลับกลายมาเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องหันมามอง ไม่ใช่แค่การมีระบบหลังบ้านหน้าบ้านที่ดีอีกต่อไป แต่กลับรวมมาถึง การนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวองค์กรในด้านต่างๆ ซึ่งสำหรับเมืองไทย ยังขาดการจัดทำเรื่องต่างๆเหล่านี้อยู่มาก

ในอดีต ข้อมูลเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีการจัดเก็บ แต่สิ่งที่จัดเก็บ มักจะอยู่ในตัวของคนคนหนึ่งมากกว่า เช่น ประสบการณ์ของตัวเจ้าของกิจการ หรือพนักงานสามารถทราบได้ดีว่า ช่วงไหนของปีจะขายดี ช่วงไหนของปียอดจะตก สุดท้ายกลายเป็นเรื่องที่มีการถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก หรือไม่ข้อมูลนั้น ก็หายไปกับตัวเจ้าของกิจการหรือพนักงานคนนั้นเลย

จริงๆแล้วข้อมูลต่างๆ สามารถจัดทำออกมาเป็นสถิติขั้นพื้นฐานง่ายๆก่อน เช่น ยอดขายเทียบตามวันเดือนปี ทำให้เราสามารถประมาณการออกมาได้ว่า การสั่งวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อเข้ามาขาย ควรจะเกิดขึ้นในช่วงใด

หลังจากนั้นอาจจะทำสถิติที่ลึกขึ้นมา ทำให้รู้จักตัวลูกค้ามากขึ้น เช่น สินค้าใด คนซื้อเป็นใคร ชายหรือหญิง แก่หรือหนุ่ม ยกตัวอย่างเช่น เก้าอี้เพื่อสุขภาพ จริงๆแล้ว เป็นของที่ถูกทำมาเพื่อผู้สูงอายุใช้งาน แต่คนที่ซื้อจริงๆคือ ชนชั้นกลางถึงร่ำรวย ซื้อให้กับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าเราไม่มีข้อมูล เราอาจจะไปทุ่มเงินโฆษณาลงไปกับกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่ คนที่เราควรจะไปสนใจเขาจริงๆคือ คนที่มีคุณพ่อคุณแม่วัยชรา

ข้อมูลต่างๆยังสามารถนำไปใช้แง่อื่น เช่น การลดต้นทุนด้านพลังงาน, การวิเคราะห์ต้นทุนสินค้าตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง, ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นในการผลิต, ลดจำนวนวัตถุดิบที่สูญเสียไปจากอายุการใช้งาน ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับว่า เราจะนำข้อมูลที่เรามี จะมากจะน้อยไปใช้งานให้ก่อเกิดประโยชน์ในแง่ใด

กิจการหลายๆอย่างที่เกิดขึ้น เราสามารถใช้งานสิ่งเหล่านั้นได้ฟรี เช่น Google, Facebook, Twitter, Youtube, เกมส์ออนไลน์ ทั้งหมดได้รายได้ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นนั่นเอง ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา เพศอะไร อายุเท่าไหร่ บ้านอยู่แถวไหน ชอบกิจกรรมอะไร ชอบดาราคนไหน งานอดิเรกอะไร ข้อมูลถูกจัดเก็บไว้หมด เพื่อนำมาคาดเดาว่า สุดท้ายแล้วเราสนใจเกี่ยวกับเรื่องอะไร เรื่องราวอะไรที่ในขณะนั้นตัวเราสนใจอยู่ นำมาประมวลผลว่า สุดท้ายแล้วสินค้าอะไร บริการอะไรที่ควรจะนำเสนอขายแก่ตัวเรา

หลายเรื่องหลังจากนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เราอาจจะได้พบสิ่งที่ประหลาดใจ เช่น ผมเคยเจอเคสที่เกิดการซื้อวัตถุดิบเข้ามาล้นโกดังจนมีมูลค่าที่สูงมาก ความผิดพลาดเกิดจาก วัตถุดิบที่มาส่งจะมีน้ำหนักเกินกว่าที่สั่งไปเสมอ ในที่นี้เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ เอาเป็นของสิ่งนี้คือแป้งนะครับ แป้งหนึ่งกระสอบที่เราตีว่าแต่ละกระสอบจะต้องหนัก 10 กิโลกรัม จะมีน้ำหนักที่เกินมาเสมอ เมื่อเวลาผ่านไป เราทำตามสูตรการผลิต เอาแป้งไปใช้ทำโน่นทำนี่ วันดีคืนดี แป้งไม่มีที่เก็บ ทั้งที่ทำตามสูตรทุกอย่าง ทั้งหมดเกิดจากน้ำหนักที่เกินมาทีละน้อยทีละนิด ถ้ามีการเก็บข้อมูลไว้ เราสามารถลดการสั่งแป้งดังกล่าวลงได้ ทำให้ประหยัดเงินทุนไปเยอะครับ

มีระบบที่ดีแล้ว ต้องรู้จักนำข้อมูลไปใช้ด้วย รับรองว่า องค์กรของท่านจะรู้เขารู้เรา เหมือนขงเบ้งติดปีกบิน สร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งได้เยอะครับ

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League