คนเรามักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่รู้อนาคตว่า จะทำให้ชีวิตเรายุ่งยากขึ้นมั๊ย ชีวิตที่เคยปกติสุขในทุกวัน หรือแม้แต่ปัญหาที่เราเคยชิน แก้ไขมันซ้ำๆเดิมทุกวันจะหายไป ทำให้เรากลายเป็นคนที่หมดความสำคัญไปในองค์กร หลากหลายเหตุผลที่เกิดขึ้นในสายตาของลูกจ้าง ทำให้หลายๆงานล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะพนักงานไม่ให้ความร่วมมือ

จุดนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียวที่เป็นคำตอบ โดยเฉพาะกับคนด้วยแล้ว บางทีเป็นงานยากกว่าการทำให้โปรแกรมใช้ได้เสียอีก

  1. คุณลูกน้องต้องจำไว้เลยว่า Digital Transformation ไม่ได้น่ากลัว เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ชีวิตเราจะสบายขึ้นเยอะ สามารถมีเวลาเหลือเฟือแอบเจ้านายไปทำอย่างอื่น โดยที่เจ้านายรู้แต่ไม่ว่าอะไร ปัจจุบัน การนำ Digital มาใช้แทบจะมีหลักการหมดแล้วว่า ต้องทำอะไร  1 2 3 4 เราก็ทำตาม หาข้อมูลตัวนี้มานะ ตั้งโค๊ดตัวนี้ จังหวะไหนต้องนับสต๊อก จังหวะไหนต้องตัดยอดเจ้าหนี้ลูกหนี้
    ถ้าการนำ Digital มาใช้แล้ว ชีวิตเราลำบากขึ้น อาจจะมาจากที่ว่า แต่ก่อนมันมีจุดที่มีปัญหา แต่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น แต่ก่อนทำสต๊อกด้วยกระดาษ ถึงเวลาก็มานับ ไม่ถูกก็เอายางลบลิควิดลบแล้วแก้ แต่พอมี Digital อาจทำให้คุณเจ้านายเห็นว่า อ้าว ที่ผ่านมาสต๊อกไม่ตรงนี่นา ต้องแยกให้ออกนะครับว่า Digital ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือสต๊อกมันไม่ตรง ซึ่งถ้าคุณปรับตัวได้ Digital จะช่วยให้สต๊อกตรง ไม่มีเจ้านายที่ไหนมาบ่นคุณ รวมทั้งเพื่อนร่วมงานที่จ้องคอยเล่นงานคุณในที่ประชุมก็จะทำไม่ได้ สบายใจสุดๆ
  2. ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่นั่งแก้ปัญหาถึงเป็นคนสำคัญ ผมเจอบ่อยมากคือ คนที่ต้องคอยนั่งแก้ปัญหาซ้ำๆเดิมๆทุกวัน โดยสาเหตุเดียวที่เค้าไม่ยอมเปลี่ยนคือ เขากลัวว่าเขาจะกลายเป็นคนที่ไม่สำคัญไป

    จำไว้ว่าไม่มีใครเก่งในงานนั้นเท่าคุณอยู่แล้ว คุณเป็นคนรู้ว่าปัญหาคืออะไร และ Digital ไม่ใช่อะไรที่สมบูรณ์แบบ มันมีความผิดพลาดจากมนุษย์เกิดขึ้นได้เสมอ และสุดท้ายคนที่จะมีหน้าที่แก้ปัญหานั้น ก็คือคุณนั่นเอง แต่เราไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งแก้อะไรให้เสียเวลา ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็นและราบรื่น จำไว้เลยว่า ถึงอย่างไรเสีย คุณจะยังเป็นคนสำคัญอยู่ตราบเท่าที่คุณยังทำหน้าที่อยู่ตรงนี้

  3. ถ้ามีอย่างอื่นที่ดีกว่า Digital ก็ต้องบอกกล่าวกัน หรือถ้าทำในทาง Digital แล้วมันยุ่งยากวุ่นวายก็อย่าไปทำ จริงๆแล้วเครื่องมือทาง Digital ก็ยังเป็นเครื่องมืออยู่วันยังค่ำ ยังมีงานบางงานที่สุดท้ายแล้ว เราไม่สามารถไปบอกคอมพิวเตอร์ได้อย่างชัดเจนว่า ต้องทำอย่างไร งานพวกนั้นจะเป็นงานที่คอมพิวเตอร์ทำแทนเราไม่ได้ ของบางอย่างต้องทำนอกระบบก็ต้องทำนอกระบบ จะมีแค่ไม่ถึง 1% ของงานทั้งหมดเท่านั้นที่เป็นเคสพิเศษจริงๆ

    ผมยกตัวอย่างเช่น การขายเศษกระดาษ เศษเหล็ก นึกสภาพว่าถ้าคุณต้องมามัวเชคทุกสิ่งทุกอย่างว่า ขายกระดาษจากกล่องแบบไหน เศษเหล็กมาจากไอเทมอะไร เพื่อมาเปิดบิลล์ขาย มันคงเป็นเรื่องที่เสียเวลา และไม่คุ้มกับเงินที่ได้รับหลักร้อยบาท ถ้าไม่ใช่ขยะอันตราย คุณทำนอกระบบไปดีกว่า บางทีเงินเดือนพนักงานที่เสียเวลาไปเยอะกว่าเงินที่ได้จากคนรับซื้อของเก่าซะอีก

สรุปหลักการง่ายๆสามอย่างของลูกน้อง Digital Transformation ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด, เรายังคงเป็นคนสำคัญของบริษัทอยู่เสมอ และ ถ้ามีวิธีที่ดีกว่าจงพูดมันออกมา เพราะคุณเป็นคนที่รู้ดีที่สุด

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League