Fantom สายน้ำที่ห้ามไหลย้อนกลับ
ยิ่งผ่านเวลาไป Blockchain ยิ่งถูกพัฒนาลักษณะของการเก็บข้อมูลให้ไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ Fantom ดาวรุ่งพุ่งแรงประจำเดือนนี้ที่นำเสนอวิธีการใหม่ที่จะทำให้ Blockchain เก็บข้อมูลได้ไวขึ้น โดยอาศัยหลักการ DAG (Direct Acyclic Graph)
กล่าวคือ Blockchain ทั่วไปจะมีการเก็บข้อมูลแบบจัดเรียงในห่วงโซ่จากบล๊อก 1 ไป 2 ไป 3 ตามลำดับ ห้ามสลับกัน ส่วนวิธีการที่ Fantom ใช้คือไม่จำเป็นที่ห่วงโซ่จะต้องมีเส้นทางเดียวในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สามารถกระจัดกระจายไปได้หลายทาง โดยมีข้อห้ามเดียวคือ ห้ามต่อโซ่ย้อนกลับทางเดิม
เช่น เริ่มต้นที่บล๊อกที่ 1 จากบล๊อกที่ 1 สามารถเชื่อมกับหลายๆบล๊อก เช่น 2, 3, 4 ได้เลย หลังจากนั้น 2 และ 3 อาจจะไปต่อกับบล๊อก 5 ส่วนบล๊อกที่ 4 อาจจะไปต่อกับบล๊อกที่ 6 แล้วบล๊อกที่ 5 และ 6 อาจจะมาบรรจบกันที่บล๊อก 7 จะต่อกี่เส้นก็ได้แต่ต้องเป็นวันเวย์ไปแล้วห้ามถอยกลับมาทางเดิมเด็ดขาด สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wiki ได้เลย
ถ้าจินตนาการต่อจริงๆแล้ว Blockchain มันก็คือ DAG นั่นเอง แต่เส้นทางมีแค่เส้นทางเดียว ไม่แตกกิ่งก้านสาขาแบบ DAG
พอเก็บข้อมูลแบบ DAG แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเร็วเพิ่มขึ้นจาก Blockchain หลายเท่าตัว Fantom กล่าวว่า การโอน FTM ผ่านแพลทฟอร์ม ใช้เวลาเร็วขึ้นมาก โดยที่ประโยชน์จากความปลอดภัยในการตรวจธุรกรรมยังคงอยู่
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า หากแพลทฟอร์มเกิดการขยายตัวมากๆ เกิดธุรกรรมจำนวนมาก ทำให้เกิดกิ่งก้านสาขาของห่วงโซ่ออกมาจนเกิดลูป (เกิดการเชื่อมห่วงโซ่ย้อนกลับ) หรือเกิดธุรกรรมซ้ำซ้อนบนบล๊อกที่เกิดขึ้นพร้อมกัน Fantom จะแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
จุดเด่นของ Fantom
- ความเร็วในการตรวจสอบธุรกรรม โดยยังคงความปลอดภัยจากการใช้งาน Blockchain
- มีการสร้าง Bridge เชื่อมกับ ERC-20 และ BSC เรียบร้อย และมีเหรียญ FTM ให้ซื้อขายบนทั้งสองแพลทฟอร์มหลัก
จุดอ่อนของ Fantom
- แพลทฟอร์มยังต้องผ่านการทดสอบการใช้งานในปริมาณมากไปเสียก่อนว่า การเก็บข้อมูลในรูป DAG ใช้ได้จริงหรือไม่
- คู่แข่งที่เลือกที่จะก้าวข้ามเทคโนโลยี Blockchain ไปเลยอย่าง HBar หรือ IOTA เป็นทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน
- FTM บนเครือข่ายหลักของ Fantom คือ Opera ยังใช้งานไม่สะดวก มี dApp ให้ใช้งานน้อย
สำหรับจำนวนเหรียญปัจจุบันในตลาดมีอยู่ประมาณ 2.1 พันล้านเหรียญจากเพดาน 3.175 พันล้านเหรียญ โดยแพลทฟอร์มใช้วิธีการ Proof of Stake โดยจะปล่อยเหรียญออกมาหมดในปี 2023 โดยสรุป Fantom เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับใครที่ชอบขึ้นรถไฟตั้งแต่เพิ่งเริ่มสร้างราง สำหรับผมมองว่า Fantom ยังต้องผ่านการทดสอบไปอีกซักระยะ จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า แพลทฟอร์มใช้ได้จริง เพราะอย่าลืมว่า เพียง transaction ที่ผิดพลาดไปแค่ครั้งเดียว สามารถทำให้แพลทฟอร์มล่มแบบไม่มีวันกลับได้เลยทันที และหากหาข้อมูล นักคณิตศาสตร์ก็ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลแบบ DAG เพราะยิ่งเวลาผ่านไป กิ่งก้านสาขาเกิดขึ้นมากขึ้น โอกาสผิดพลาดมันมีสูงมากทีเดียว แต่ถามว่าต้องจับตามองมั๊ย แน่นอนครับ เป็นอีกแพลทฟอร์มที่น่าสนใจ ที่ต้องคอยแอบดูพัฒนาการอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ต้องรีบลงทุนด้วย เพราะยังมีช่องว่างของเหรียญเฟ้ออยู่อีกพอสมควร สามารถรอให้เหรียญปล่อยออกมาชนเพดานในปี 2023 ก่อนได้ค่อยตัดสินใจ
Leave a Comment
You must be logged in to post a comment.