จะมีการวิ่งประเพณีครั้งสำคัญของสาวกลิเวอร์พูลในเมืองไทย the Kop Run จัดมาหลายปี ซื้อบัตรกันไม่ทันแทบทุกปี แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่มีสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การวิ่งต้องทำผ่าน Virtual Run แทน

ความสนุกเกิดขึ้นก่อนการวิ่ง เนื่องจากทีมงานผู้พัฒนา Application the Kop Run เป็นชาวต่างชาติ ทำให้เกิดปัญหากับสาวกลิเวอร์พูลบางท่านพอสมควร

เนื่องจากการวัดระยะใน Virtual Run จำเป็นต้องอาศัยการบันทึกระยะและเวลา ผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทางผู้พํฒนา เลือกที่จะใช้บริการ Google Fit เป็นตัวรับข้อมูลหลัก แทนแอพพลิเคชั่น อันดับต้นๆในการวิ่งอื่นๆ อย่าง Strava ทำให้เกิดปัญหาตามมาพอควร

หากคุณใช้ iPhone และมีการใช้ Smart Watch คุณจะต้องทำการ Sync ข้อมูลข้ามไปมาระหว่างแอพพลิเคชั่น สามถึงสี่ขั้นเลยทีเดียว

เช่นหากคุณมี Garmin คุณจะต้องส่งข้อมูลจาก Garmin มาที่ Strava หรือ Health ก่อน จากนั้นจึงส่งไปที่ Google Fit แล้วส่งข้อมูลให้ the Kop Run อีกหน อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ในการออกแบบระบบ การที่ Sync ข้อมูล GPS ระหว่างกัน จะเกิดความคาดเคลื่อนลำดับหนึ่ง เพราะ แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ จะใช้ข้อมูลที่เรียกว่า .GPX ในการส่งหากัน ถ้าเปิดเข้าไปดูจะเป็นค่าแลตติจูด ลองติจูด วันเวลานาทีวินาที เช่น Garmin ส่งหา Strava หลายท่านอาจจะเข้าใจว่ามันถูกต้อง 100% แต่จริงๆแล้ว Strava จะเอาข้อมูล .GPX ไปพล๊อตเส้นทาง และคำนวณระยะทางและเวลาอีกรอบ ซึ่งจะได้ค่าระยะทางและเวลาคลาดเคลื่อนจาก Garmin ไปพอสมควร

หากต้องมีการ Sync กันถึง 4 ครั้ง ความคาดเคลื่อนจะเกิดขึ้นพอสมควร และหากมีการแข่งขัน ที่มีรางวัลประเภทชี้เป็นชี้ตาย ประเภท อันดับหนึ่งได้จับมือกับน้องลิซ่า ไปกินข้าวกับ เป๊ก ผลิตโชค รับรองว่า ดราม่าบังเกิดแน่นอน

กับผู้ใช้งานโดยตรง ลำพัง Sync ข้อมูลจากนาฬิกาลงแอพของนาฬิกานั้นๆ หลายท่านยังทำไม่เป็นเลย อย่าพูดถึงการเชื่อมต่อจากแอพสู่แอพ ขนาดลุงตู่แจกเงินในแอพคนละครึ่ง หลายท่านยังต้องพึ่งลูกหลานหรือพ่อค้าแม่ค้าหรือคนที่ยืนอยู่ด้วยกันทำให้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากมากในทางปฎิบัติ

แต่การส่งผล Virtual Run ของเมืองไทย เราก้าวข้ามสิ่งนี้มานานมากแล้ว แม้แต่เทคโนโลยีบ้านๆอย่างการแคปหน้าจอ การตรวจสอบผลแบบไทยๆใช้ได้ผลดีมาก

เมืองไทยเราเริ่มจากการจ้างเด็กมานั่งกดตรวจรูปไปเรื่อยๆ ถึกหน่อย กระจายรายได้ ใช้เวลาไม่นาน แต่มีประสิทธิภาพพอสมควร

หลังจากนั้น เราพัฒนามาใช้ระบบ Social Correction คือหาอาสาสมัครจำนวนมาก มาร่วมกันตรวจผล โดยมี AI และมือที่มองไม่เห็น คอยจับตาดูอาสาสมัครเหล่านั้นอีกทีว่ามั่วไม่มั่ว วิธีการนี้ใช้ในงานวิ่งของพี่ตูนมาหลายครั้งแล้วครับ

เท่านั้นยังไม่พอ สุดท้ายเมืองไทยยังมีการใช้ Image Processing ตรวจผลอีกรอบ ทำให้วิธีบ้านๆที่เป็นการแคปหน้าจอมือถือ หรือถ่ายรูปตัวเลขบนลู่วิ่งมาเลย มีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก

ข้อดีของเรื่องนี้คือ คุณจะใช้แอพอะไรก็ได้ที่ถนัด มีนาฬิกาหรือไม่มีก็สามารถส่งข้อมูลมาให้ผู้จัดงานได้เลย ไม่ลำบากคนเข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่น่าจะบริการเขามากที่สุด เพราะเขาเป็นคนจ่ายเงิน

ผมยกตัวอย่างง่ายๆครับ ทุกวันนี้ขายของออนไลน์ยังต้องมีช่องทางการโอนสลิปเอทีเอ็มอยู่ มีการเก็บเงินปลายทางอยู่ เพราะมันก็มีคนที่จ่ายเงินออนไลน์ไม่เป็น มันเลยยังต้องมีการบริการพวกนี้อยู่ และเราขายของ เราก็ควรต้องบริการคนจ่ายเงินให้เราเท่าที่จะทำได้

ส่วนคำถามว่า โกงได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นการ Sync ข้อมูล หรือ แคปหน้าจอ โกงได้ทั้งนั้นครับ ความยากง่าย ในความเห็นผมคือไม่ต่างกัน แถมการโกงด้วยทำให้แอพพลิเคชั่นวัดระยะวิ่งบันทึกข้อมูลลงไปในระบบจริงๆ สำหรับผมอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ และที่สำคัญ เป็นการโกงที่เนียนกว่า (ผมจะไม่บอกว่าทำยังไงหรอกนะ)

แน่นอนวิธีการที่ดีที่สุด ยังคงเป็นการ Sync ข้อมูลมาจากแอพพลิเคชั่นที่ทุกคนยอมรับอย่าง Strava (เชื่อมต่อกับนาฬิกา และแอพพลิเคชั่นอื่นๆได้ครบมากที่สุด) ซึ่ง Virtual Run ที่ได้มาตรฐานจะรองรับแอพพลิเคชั่นนี้ ยกเว้นกรณีเดียวคือ มีสปอนเซอร์เป็นคู่แข่งกัน

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ จากที่ผมทำงานกับต่างประเทศมาเยอะ โดยส่วนใหญ่ฝรั่งจะชอบอะไรที่เป็นระบบ ส่วนฝั่งไทยจะใช้คำว่า ทำอะไรง่ายๆ สบายๆคือไทยแท้ แต่พอเราได้เรียนรู้และพัฒนา การทำงานแบบไทยๆในบางเรื่องก็มีประสิทธิภาพได้ไม่แพ้ต่างชาติ

โปรดเข้าใจว่า ผมไม่ได้ระบุว่า วิธีการที่ทีมพัฒนาการวิ่งครั้งนี้ทำไปมันไม่ถูกต้อง จริงๆตามหลักการก็ทำได้ครับ ไม่มีอะไรผิดซักนิดเดียว คนเข้าร่วมงานก็ไปหาวิธีส่งผลมาให้ได้ก็แล้วกัน คนจัดก็เหนื่อยตอบคำถามกันไป แต่ถามผม ผมคงไม่จ้างทีมพัฒนานี้เขียนแอพให้ผมแน่ เพราะคนสะดวกในเรื่องนี้ไม่ใช่ผู้บริโภคแต่เป็นเจ้าของงาน

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การทำงานแบบเมืองนอก ไม่ได้แปลว่าจะยอดเยี่ยมหรือดีไปกว่า การทำงานแบบไทยๆอย่างที่หลายคนเข้าใจเสมอไป

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League