Bitcoin ปฐมกษัตริย์แห่งสกุลคริปโต
ผมเคยเขียนถึง Bitcoin (BTC) เอาไว้ครั้งหนึ่งเมื่อสามปีก่อน ที่ลิงก์นี
เวลาผ่านล่วงเลยมา จนกระทั่งผมได้กลับมาศึกษาเรื่องราวของ Bitcoin และ Blockchain อีกครั้ง บอกตรงๆว่า มันเปลี่ยนมุมมองความคิดของผมที่มีต่อเทคโนโลยีนี้ไป เพราะผมไม่คาดคิดเลยว่า ในระยะเวลาเพียงแค่สามปี โลกของ Blockchain จะพัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ จากเหรียญในจินตนาการที่ดูไม่มีค่าอะไรในปัจจุบัน ถูกพิสูจน์ว่า มันสามารถเกิดคุณค่าในตัวของมันเอง เพื่อที่จะเริ่มการเดินทาง เราจะต้องตอบคำถามแรกที่ทุกคนจะถามเสมอเมื่อคุยเรื่องเหรียญให้ได้ก่อน
Bitcoin คืออะไร
Bitcoin เป็นสกุลเหรียญที่ใช้ความสามารถของเครือข่าย Blockchain ในการสร้างมันขึ้นมาบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยส่วนตัวผมมองว่า Bitcoin ไม่ใช่ เงิน เสียทีเดียว เพราะปัจจุบัน Bitcoin กลายเป็นสิ่งที่มีค่าเทียบเท่าไปกับสินทรัพย์อย่างทองคำมากกว่า คงไม่มีใครเอาทองไปซื้อหมูปิ้งหรอกจริงมั๊ย Bitcoin ก็เช่นกัน คงไม่มีใครเอามาจ่ายตลาดจริงๆหรอก
อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฏี เจ้า Bitcoin ถูกเรียกว่าเงิน ก็เพราะว่า มันมีการใช้จ่ายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ด้วยเจ้าสิ่งนี้จริงๆ โดยเฉพาะการที่ Bitcoin อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็เพราะเป็นวิธีการถ่ายโอนเงินและทรัพย์สินในธุรกิจสีเทาไปถึงสีดำ นั่นเป็นเพราะ Bitcoin มีจุดเด่นต่างจากเงินที่เราใช้กันอยู่ คือ
– ไม่มีการกำกับดูแล เพราะ รัฐบาลหรือเอกชนใดๆ ไม่ได้เป็นคนสร้างสกุลเงินนี้ขึ้นมา
– ใช้เทคโนโลยี Blockchain ทำให้ธุรกรรมทางการเงินไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง เช่น ธนาคาร ในการทำธุรกรรมใดๆอีกต่อไป
– สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครก็ได้ในโลก ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากหรือไม่มีเลย โดยที่ผู้โอนและผู้รับไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนของกันและกันด้วยซ้ำ
– ถูกกำหนดให้มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนไปจาก 21 ล้านได้
ส่วนความแตกต่างของ Bitcoin กับสินทรัพย์ประเภทอื่นก็มีอยู่ คือ
– มีความคล่องตัวมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น เพราะสามารถแลกเปลี่ยนออกมาเป็นเงินสดได้ตลอด 24 ชั่วโมง
– ถูกกำหนดให้มีจำนวนจำกัด และผลิตออกมาในจำนวนที่จำกัดต่อช่วงระยะเวลา ทำให้ไม่เกิดเหตุซัพพลายล้น
– ไม่มีวัตถุทางกายภาพ ไม่ต้องมีที่เก็บ เพราะถูกเก็บเป็นข้อมูลผ่านเครือข่าย Blockchain จึงไม่มีทางสูญหาย
แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน คือ
– ไม่มีมูลค่าที่คงที่ สามารถเพิ่มหรือลดมูลค่าได้ภายในเวลาอันสั้น
– ไม่สามารถกำกับดูแล จึงใช้เป็นเงินในช่องทางในการทำผิดกฏหมายได้ง่าย
– หากรหัสความปลอดภัยเพื่อเข้าถึง Bitcoin ที่ถืออยู่สูญหาย จะไม่มีทางเข้าถึงเงินดังกล่าวได้อีกเลย และ Bitcoin ดังกล่าวจะกลายเป็นจำนวนที่ไม่มีใครสามารถทำธุรกรรมได้อีก
ทำไม Bitcoin จึงมีค่าขึ้นมา
เมื่อเรารู้ข้อดีข้อเสียของ Bitcoin คำถามต่อมาคือ ทำไมมันจึงมีค่าขึ้นมา ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ของเจ้าสิ่งนี้กันเล็กน้อย
- ต้นกำเนิดของ Bitcoin จริงๆ ดูไม่มีค่าอะไร จนกระทั่งเมื่อธุรกิจสีเทาถึงดำนำมันมาใช้ประโยชน์ ทำให้ Bitcoin เกิดมูลค่าขึ้นมาจริงๆ เพราะข้อดีคือ เป็นเงินที่รัฐบาลไม่ได้กำกับดูแล แถมการทำธุรกรรมระหว่างกันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสืบหาเจ้าของเหรียญ แล้วยังสามารถโอนเงินข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร Bitcoin จึงเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาและมีมูลค่าขึ้นมาระดับหนึ่ง
- อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเริ่มอยากจะมากำกับดูแลคริปโตมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้า Bitcoin ทำให้การทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin โดยเฉพาะในสหรัฐเริ่มทำได้ยากขึ้น และรัฐบาลเริ่มที่จะหาวิธีควบคุมให้สามารถรู้ตัวตนของเจ้าของเหรียญที่ทำธุรกรรมดังกล่าว ทำให้ Bitcoin และเหรียญอื่นๆ ดูเหมือนจะเสื่อมมนต์ขลังไป
- แต่ระยะเวลาแค่เสี้ยวอึดใจ บริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ เริ่มศึกษาและหาหนทางใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการเงินกันมากขึ้น การเข้าถึง Bitcoin ทำได้ง่ายขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ
- สุดท้าย เมื่อ Bitcoin ถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นสิ่งแทนเงินและสินทรัพย์ต่างๆได้จริง ทำให้เกิดการยอมรับจากบุคคลสำคัญในโลกและภาคเอกชนมากขึ้น มูลค่าของ Bitcoin จึงพุ่งสูงขึ้นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่
มีโอกาสไหมที่ Bitcoin จะไร้ค่า
ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมีโอกาสนั้นมีโอกาสจะล่มสลายด้วยกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าวันหนึ่ง Bitcoin อาจจะโดนแทนที่ด้วยเงินที่แก้ปัญหาของ Bitcoin แต่ถ้าสภาพการณ์ยังเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน Bitcoin จะไร้ค่าได้ ต่อเมื่อรัฐบาลทั่วโลกประกาศห้ามใช้มัน ซึ่งอาจทำได้ในทางทฤษฎี แต่เป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ
อีกความเสี่ยงหนึ่ง เกิดจากกลุ่มคนที่เราเรียกพวกเขาว่า กลุ่มคนทำเหมืองขุด Bitcoin ที่เราจะมาว่ากันในตอนต่อๆไป
[…] Bitcoin คืออะไร […]
[…] BTC […]
[…] Bitcoin ผมได้เขียนไว้ในลิงก์นี้ “Bitcoin ปฐมกษัตริย์แห่งสกุลคริปโต” […]