ผมเคยเขียนถึง Bitcoin (BTC) เอาไว้ครั้งหนึ่งเมื่อสามปีก่อน ที่ลิงก์นี

เวลาผ่านล่วงเลยมา จนกระทั่งผมได้กลับมาศึกษาเรื่องราวของ Bitcoin และ Blockchain อีกครั้ง บอกตรงๆว่า มันเปลี่ยนมุมมองความคิดของผมที่มีต่อเทคโนโลยีนี้ไป เพราะผมไม่คาดคิดเลยว่า ในระยะเวลาเพียงแค่สามปี โลกของ Blockchain จะพัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ จากเหรียญในจินตนาการที่ดูไม่มีค่าอะไรในปัจจุบัน ถูกพิสูจน์ว่า มันสามารถเกิดคุณค่าในตัวของมันเอง เพื่อที่จะเริ่มการเดินทาง เราจะต้องตอบคำถามแรกที่ทุกคนจะถามเสมอเมื่อคุยเรื่องเหรียญให้ได้ก่อน

Bitcoin คืออะไร

Bitcoin เป็นสกุลเหรียญที่ใช้ความสามารถของเครือข่าย Blockchain ในการสร้างมันขึ้นมาบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยส่วนตัวผมมองว่า Bitcoin ไม่ใช่ เงิน เสียทีเดียว เพราะปัจจุบัน Bitcoin กลายเป็นสิ่งที่มีค่าเทียบเท่าไปกับสินทรัพย์อย่างทองคำมากกว่า คงไม่มีใครเอาทองไปซื้อหมูปิ้งหรอกจริงมั๊ย Bitcoin ก็เช่นกัน คงไม่มีใครเอามาจ่ายตลาดจริงๆหรอก

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฏี เจ้า Bitcoin ถูกเรียกว่าเงิน ก็เพราะว่า มันมีการใช้จ่ายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ด้วยเจ้าสิ่งนี้จริงๆ โดยเฉพาะการที่ Bitcoin อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็เพราะเป็นวิธีการถ่ายโอนเงินและทรัพย์สินในธุรกิจสีเทาไปถึงสีดำ นั่นเป็นเพราะ Bitcoin มีจุดเด่นต่างจากเงินที่เราใช้กันอยู่ คือ
– ไม่มีการกำกับดูแล เพราะ รัฐบาลหรือเอกชนใดๆ ไม่ได้เป็นคนสร้างสกุลเงินนี้ขึ้นมา
– ใช้เทคโนโลยี Blockchain ทำให้ธุรกรรมทางการเงินไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง เช่น ธนาคาร ในการทำธุรกรรมใดๆอีกต่อไป
– สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครก็ได้ในโลก ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากหรือไม่มีเลย โดยที่ผู้โอนและผู้รับไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนของกันและกันด้วยซ้ำ
– ถูกกำหนดให้มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนไปจาก 21 ล้านได้

ส่วนความแตกต่างของ Bitcoin กับสินทรัพย์ประเภทอื่นก็มีอยู่ คือ
– มีความคล่องตัวมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น เพราะสามารถแลกเปลี่ยนออกมาเป็นเงินสดได้ตลอด 24 ชั่วโมง
– ถูกกำหนดให้มีจำนวนจำกัด และผลิตออกมาในจำนวนที่จำกัดต่อช่วงระยะเวลา ทำให้ไม่เกิดเหตุซัพพลายล้น
– ไม่มีวัตถุทางกายภาพ ไม่ต้องมีที่เก็บ เพราะถูกเก็บเป็นข้อมูลผ่านเครือข่าย Blockchain จึงไม่มีทางสูญหาย

แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน คือ
– ไม่มีมูลค่าที่คงที่ สามารถเพิ่มหรือลดมูลค่าได้ภายในเวลาอันสั้น
– ไม่สามารถกำกับดูแล จึงใช้เป็นเงินในช่องทางในการทำผิดกฏหมายได้ง่าย
– หากรหัสความปลอดภัยเพื่อเข้าถึง Bitcoin ที่ถืออยู่สูญหาย จะไม่มีทางเข้าถึงเงินดังกล่าวได้อีกเลย และ Bitcoin ดังกล่าวจะกลายเป็นจำนวนที่ไม่มีใครสามารถทำธุรกรรมได้อีก

ทำไม Bitcoin จึงมีค่าขึ้นมา

เมื่อเรารู้ข้อดีข้อเสียของ Bitcoin คำถามต่อมาคือ ทำไมมันจึงมีค่าขึ้นมา ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ของเจ้าสิ่งนี้กันเล็กน้อย

  1. ต้นกำเนิดของ Bitcoin จริงๆ ดูไม่มีค่าอะไร จนกระทั่งเมื่อธุรกิจสีเทาถึงดำนำมันมาใช้ประโยชน์ ทำให้ Bitcoin เกิดมูลค่าขึ้นมาจริงๆ เพราะข้อดีคือ เป็นเงินที่รัฐบาลไม่ได้กำกับดูแล แถมการทำธุรกรรมระหว่างกันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสืบหาเจ้าของเหรียญ แล้วยังสามารถโอนเงินข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร Bitcoin จึงเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาและมีมูลค่าขึ้นมาระดับหนึ่ง
  2. อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเริ่มอยากจะมากำกับดูแลคริปโตมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้า Bitcoin ทำให้การทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin โดยเฉพาะในสหรัฐเริ่มทำได้ยากขึ้น และรัฐบาลเริ่มที่จะหาวิธีควบคุมให้สามารถรู้ตัวตนของเจ้าของเหรียญที่ทำธุรกรรมดังกล่าว ทำให้ Bitcoin และเหรียญอื่นๆ ดูเหมือนจะเสื่อมมนต์ขลังไป
  3. แต่ระยะเวลาแค่เสี้ยวอึดใจ บริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ เริ่มศึกษาและหาหนทางใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการเงินกันมากขึ้น การเข้าถึง Bitcoin ทำได้ง่ายขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ
  4. สุดท้าย เมื่อ Bitcoin ถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นสิ่งแทนเงินและสินทรัพย์ต่างๆได้จริง ทำให้เกิดการยอมรับจากบุคคลสำคัญในโลกและภาคเอกชนมากขึ้น มูลค่าของ Bitcoin จึงพุ่งสูงขึ้นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

มีโอกาสไหมที่ Bitcoin จะไร้ค่า

ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมีโอกาสนั้นมีโอกาสจะล่มสลายด้วยกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าวันหนึ่ง Bitcoin อาจจะโดนแทนที่ด้วยเงินที่แก้ปัญหาของ Bitcoin แต่ถ้าสภาพการณ์ยังเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน Bitcoin จะไร้ค่าได้ ต่อเมื่อรัฐบาลทั่วโลกประกาศห้ามใช้มัน ซึ่งอาจทำได้ในทางทฤษฎี แต่เป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ

อีกความเสี่ยงหนึ่ง เกิดจากกลุ่มคนที่เราเรียกพวกเขาว่า กลุ่มคนทำเหมืองขุด Bitcoin ที่เราจะมาว่ากันในตอนต่อๆไป

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League