ยิ่งผ่านเวลาไป Blockchain ยิ่งถูกพัฒนาลักษณะของการเก็บข้อมูลให้ไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ Fantom ดาวรุ่งพุ่งแรงประจำเดือนนี้ที่นำเสนอวิธีการใหม่ที่จะทำให้ Blockchain เก็บข้อมูลได้ไวขึ้น โดยอาศัยหลักการ DAG (Direct Acyclic Graph) 

กล่าวคือ Blockchain ทั่วไปจะมีการเก็บข้อมูลแบบจัดเรียงในห่วงโซ่จากบล๊อก 1 ไป 2 ไป 3 ตามลำดับ ห้ามสลับกัน ส่วนวิธีการที่ Fantom ใช้คือไม่จำเป็นที่ห่วงโซ่จะต้องมีเส้นทางเดียวในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สามารถกระจัดกระจายไปได้หลายทาง โดยมีข้อห้ามเดียวคือ ห้ามต่อโซ่ย้อนกลับทางเดิม

เช่น เริ่มต้นที่บล๊อกที่ 1 จากบล๊อกที่ 1 สามารถเชื่อมกับหลายๆบล๊อก เช่น 2, 3, 4 ได้เลย หลังจากนั้น 2 และ 3 อาจจะไปต่อกับบล๊อก 5 ส่วนบล๊อกที่ 4 อาจจะไปต่อกับบล๊อกที่ 6 แล้วบล๊อกที่ 5 และ 6 อาจจะมาบรรจบกันที่บล๊อก 7 จะต่อกี่เส้นก็ได้แต่ต้องเป็นวันเวย์ไปแล้วห้ามถอยกลับมาทางเดิมเด็ดขาด สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wiki ได้เลย

ถ้าจินตนาการต่อจริงๆแล้ว Blockchain มันก็คือ DAG นั่นเอง แต่เส้นทางมีแค่เส้นทางเดียว ไม่แตกกิ่งก้านสาขาแบบ DAG 

พอเก็บข้อมูลแบบ DAG แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเร็วเพิ่มขึ้นจาก Blockchain หลายเท่าตัว Fantom กล่าวว่า การโอน FTM ผ่านแพลทฟอร์ม ใช้เวลาเร็วขึ้นมาก โดยที่ประโยชน์จากความปลอดภัยในการตรวจธุรกรรมยังคงอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า หากแพลทฟอร์มเกิดการขยายตัวมากๆ เกิดธุรกรรมจำนวนมาก ทำให้เกิดกิ่งก้านสาขาของห่วงโซ่ออกมาจนเกิดลูป (เกิดการเชื่อมห่วงโซ่ย้อนกลับ) หรือเกิดธุรกรรมซ้ำซ้อนบนบล๊อกที่เกิดขึ้นพร้อมกัน Fantom จะแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร

จุดเด่นของ Fantom

  • ความเร็วในการตรวจสอบธุรกรรม โดยยังคงความปลอดภัยจากการใช้งาน Blockchain
  • มีการสร้าง Bridge เชื่อมกับ ERC-20 และ BSC เรียบร้อย และมีเหรียญ FTM ให้ซื้อขายบนทั้งสองแพลทฟอร์มหลัก

จุดอ่อนของ Fantom

  • แพลทฟอร์มยังต้องผ่านการทดสอบการใช้งานในปริมาณมากไปเสียก่อนว่า การเก็บข้อมูลในรูป DAG ใช้ได้จริงหรือไม่
  • คู่แข่งที่เลือกที่จะก้าวข้ามเทคโนโลยี Blockchain ไปเลยอย่าง HBar หรือ IOTA เป็นทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน
  • FTM บนเครือข่ายหลักของ Fantom คือ Opera ยังใช้งานไม่สะดวก มี dApp ให้ใช้งานน้อย

สำหรับจำนวนเหรียญปัจจุบันในตลาดมีอยู่ประมาณ 2.1 พันล้านเหรียญจากเพดาน 3.175 พันล้านเหรียญ โดยแพลทฟอร์มใช้วิธีการ Proof of Stake โดยจะปล่อยเหรียญออกมาหมดในปี 2023 โดยสรุป Fantom เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับใครที่ชอบขึ้นรถไฟตั้งแต่เพิ่งเริ่มสร้างราง สำหรับผมมองว่า Fantom ยังต้องผ่านการทดสอบไปอีกซักระยะ จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า แพลทฟอร์มใช้ได้จริง เพราะอย่าลืมว่า เพียง transaction ที่ผิดพลาดไปแค่ครั้งเดียว สามารถทำให้แพลทฟอร์มล่มแบบไม่มีวันกลับได้เลยทันที และหากหาข้อมูล นักคณิตศาสตร์ก็ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลแบบ DAG เพราะยิ่งเวลาผ่านไป กิ่งก้านสาขาเกิดขึ้นมากขึ้น โอกาสผิดพลาดมันมีสูงมากทีเดียว แต่ถามว่าต้องจับตามองมั๊ย แน่นอนครับ เป็นอีกแพลทฟอร์มที่น่าสนใจ ที่ต้องคอยแอบดูพัฒนาการอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ต้องรีบลงทุนด้วย เพราะยังมีช่องว่างของเหรียญเฟ้ออยู่อีกพอสมควร สามารถรอให้เหรียญปล่อยออกมาชนเพดานในปี 2023 ก่อนได้ค่อยตัดสินใจ

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League