จีนกับคริปโตฯ ไปต่อหรือพอแค่นี้
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาคริปโตเคอเรนซี่มีความผันผวนเป็นอย่างมากในช่วงนี้ คือมาตรการของรัฐบาลจีน ที่มีต่อสกุลเงิน Bitcoin และกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ ทั้งที่ตั้งอยู่ในเมืองจีนเองอย่าง OKex หรือ Huobi และกับตลาดที่อยู่นอกประเทศอย่าง Binance ซึ่งดูค่อนข้างแข็งกร้าวพอสมควร และน่าจะมีมาตรการแข็งกร้าวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ในมุมมองผม จากเรื่องราวในอดีต รัฐบาลจีนจะไม่ชอบอะไรที่ควบคุมไม่ได้ จนในปัจจุบัน Social Network ชื่อดังของโลก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, หรือ Youtube ยังไม่สามารถเข้าไปประกอบธุรกิจภายในประเทศจีนได้ และสุดท้าย จีนจะเลือกสนับสนุนเอกชนภายในประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศขึ้นมาเอง Wechat, Weibo, Kuaishou, Baidu, หรือ Youku จึงกำเนิดขึ้นมาภายในประเทศ และจะมีบ้างที่สามารถก้าวออกจากประเทศและกลายเป็นแพลทฟอร์มชั้นนำอย่าง Alibaba สถานการณ์จึงไม่แตกต่างกันมากนักกับเรื่องของ คริปโตเคอเรนซี่
ด้วยเหตุผลที่ว่า ปัจจุบัน การเป็นมหาอำนาจ ไม่ได้อาศัยการรบกันด้วยอาวุธแบบสมัยก่อน แต่อาศัยการรบกันทางเศรษฐกิจ และคริปโตเคอเรนซี่เป็นอาวุธสำคัญที่จีนหรือชาติใดก็ตาม จะใช้สำหรับการด้อยค่า สกุลเงินอันดับหนึ่งของโลก อย่างดอลล่าร์สหรัฐ แค่เหตุผลข้อนี้ข้อเดียว สามารถสรุปได้เลยครับว่า ไม่มีทางที่จีนจะไม่สนใจพัฒนาคริปโตฯ แต่ในการพัฒนาจะต้องเหมือนกับที่จีนทำกับ Social Network คือรัฐบาลต้องควบคุมได้
แต่ด้วยการที่คริปโตฯมีเรื่องของ Decentralized เพิ่มเข้ามา ทำให้การที่จะควบคุมทำได้ยาก ถึงแม้รัฐบาลจีนจะสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้เอง เพราะข้อมูลเป็นข้อมูลสาธารณะแต่การควบคุมธุรกรรมเงินทุนไหลเข้าไหลออก รัฐบาลจีนจะไม่สามารถควบคุมได้เลย ต่อให้ออกกฏห้ามแบบโหดขนาดไหนก็ตาม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ เป็นไปได้สูงที่ รัฐบาลจีนจะออก Fiat Stable Coin ขึ้นมา เป็นประเทศแรกๆของโลก ประโยชน์ก็คือ การที่ประชาชนจะทำธุรกรรมใดๆก็ตาม รัฐบาลจีนสามารถควบคุมได้ ทั้งจำนวนเงินที่ไหลเข้า จำนวนเงินที่ไหลออก ภาษีที่จะต้องเกิดขึ้น และป้องกันการฟอกเงินอีกด้วย คุณจะเอาเงินออกไปเล่นแร่แปรธาตุขนาดไหนก็ได้ แต่สุดท้าย เมื่อจะเบิกและถอนเงินประชาชนจีนจะทำธุรกรรมต้องผ่านทาง Fiat Stable Coin ดังกล่าวเสมอ และคงมีแต่ประเทศจีนที่จะทำแบบนี้ได้
คาดว่า Fiat Stable Coin ดังกล่าว จะสามารถใช้บน Smart Contract ใดๆก็ได้ เพราะ ในการโจมตีค่าเงินดอลล่าร์ อาศัยเพียงแพลทฟอร์มภายในประเทศคงไม่พอ จีนอาจจะสนับสนุนแพลทฟอร์มจากเอกชนภายในประเทศอย่าง Tron, Neo, Qtum แต่สุดท้ายน่าจะต้องเข้าไปบุกตลาดโลก เช่นกัน ทั้งใน Ethereum, Polkadot, หรือ Cardano ซึ่งทุกแพลทฟอร์มแทบจะถวายตัวยินดีร่วมงานกับจีนอยู่แล้ว
ถามว่าการห้ามขุด Bitcoin นอกจากเรื่องของเปลืองไฟฟ้าแล้ว ย้อนกลับไปคือ เมื่อนักขุดได้เงินมา ปัจจุบันรัฐบาลจีนไม่สามารถไปแตะต้องเงินเหล่านั้นได้เลย นักขุดสามารถยักย้ายถ่ายเทเงินออกไปโดยที่รัฐบาลได้แค่ค่าไฟ การนำเงินเข้าประเทศคงไม่ใช่เรื่องยากเกินฝีมือนักขุด นำเข้าไม่ได้จริงๆก็มาเสวยสุขอยู่ในเมืองไทยได้ ซึ่งมันไม่คุ้มกันเลย จึงไม่แปลกที่มีการห้ามขุดเกิดขึ้นในประเทศจีน
สรุปง่ายๆคือ รัฐบาลจีนไม่ได้จะต่อต้านคริปโตฯ แต่พยายามตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการหาวิธีควบคุมมันให้ได้ ซึ่งในระยะยาว ถือเป็นผลดีกับเอกชนจีนมากกว่าใหญ่โตแล้วโดนจับชำแหละแบบ Alibaba และแน่นอนเมื่อเอกชนจีนออกมาสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคง ย่อมเป็นผลดีกับจักรวาลคริปโตแน่นอนครับ
Leave a Comment
You must be logged in to post a comment.