ใช้เวลาทำความเข้าใจกับแพลทฟอร์ม Terra อยู่หลายวัน กว่าจะสามารถแกะออกมาเป็นความเข้าใจง่ายๆ กับการนำ Blockchain ไปสร้างนวัตกรรมใหม่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือมีการใช้งานจริงแล้วด้วยที่ประเทศเกาหลีใต้ จะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดนะครับ

Terra คืออะไร

ก่อนอื่น Terra คือแพลทฟอร์ม Smart Contract ที่วัตถุประสงค์จะไม่เหมือนพวก Ethereum ไปเสียทีเดียว คือสองโอปป้าผู้สร้างชาวเกาหลี Do Kwon และ Daniel Shin ต้องการแก้ไขข้อจำกัดของเงินสดและไม่สดที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นแนวทางการพัฒนา Terra จึงออกไปในแนวทางของการสร้างเงินเสมือนหรือสินทรัพย์เสมือนทางดิจิตอล โดยผ่าน Smart Contract แต่สร้างยังไง ต้องไปทำความรู้จักกับเหรียญหลักของ Terra

Luna และ TerraUSD คืออะไร

ผลิตภัณฑ์แรกของ Terra ที่ออกมาคือ Stable Coin ที่ชื่อ TerraUSD (UST) โดยข้อแตกต่างจากเหรียญอื่นๆคือ แทนที่จะใช้เงินจริง หรือสินทรัพย์ในการค้ำประกันค่าเงิน แต่ Terra ใช้เหรียญ Luna ในการทำให้ค่าเงินคงที่ใกล้เคียงกับ 1 ดอลล่าร์อยู่เสมอ

หลักการง่ายๆคือ เมื่อใดที่ TerraUSD มีค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ จะมี Arbitrage Bot ทำการซื้อ TerraUSD คืนจากตลาดและนำมาเก็บไว้จนกว่าราคาจะคืนมาที่ 1 ดอลลาร์ หลังจากนั้นจะทำการเบิร์น TerraUSD ดังกล่าวในราคาหนึ่งดอลลาร์ (ได้กำไรทันที) และผลิต Luna ที่มูลค่าเท่ากันกลับออกมาใส่ในกองกลาง

กลับกัน เมื่อใดที่ TerraUSD เริ่มขาดตลาด และมีราคาสูงกว่า 1 ดอลลาร์ ระบบจะทำการเผา Luna ในกองกลาง และผลิต TerraUSD ออกมา และจะมี Arbitrage Bot นำเงินที่ผลิตมาใหม่ทำการซื้อเหรียญที่ราคา 1 ดอลลาร์จากกองกลาง และขายออกในราคาที่สูงกว่า (ได้กำไรทันที) และจะทำไปจนกว่าเหรียญจะกลับมาอยู่ในราคา 1 ดอลลาร์เช่นเคย

กำไรจาก Arbitrage จะถูกนำไปแจกจ่ายให้คนในกองกลางที่นำ Luna มาลงขันเอาไว้นั่นเอง

ปัจจุบันได้มีการสร้าง Stable Coin เงินบาทขึ้นบน Terra โดยใช้ชื่อว่า THT แต่ยังมีประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ระวังการใช้งานเหรียญดังกล่าว

หลักการเดียวกันนำมาใช้กับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น ทองคำ ทองแดง เงิน และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ Mirror Protocol โดยการนำ TerraUST มาวางค้ำประกัน แล้วออกสินทรัพย์สังเคราะห์ที่เรียกว่า mAssets เช่น mGold, mTSLA (หุ้น Tesla) หรือ mETH โดยราคาของสินทรัพย์สังเคราะห์จะอิงตามราคาของสินทรัพย์ที่มันอ้างอิงอยู่เสมอ และสินทรัพย์สังเคราะห์เหล่านั้นจะนำมาเป็นช่องทางในการทำผลิตภัณฑ์ทางการเงินบน Mirror Protocol ต่อไป

หาก Mirror Protocol ได้รับความนิยม UST จะมีการใช้งานมากขึ้น และ Luna จะถูกเผาทิ้งมากตาม ทำให้ราคา Luna สูงขึ้น

อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งของ Terra เรียกว่า Anchor Protocol เป็นการนำ UST ไปฝากเพื่อรับดอกเบี้ยในอัตราสูง โดย Anchor จะนำเงินของเราไปหารายได้จากการ Staking หรือปล่อยให้กู้ยืมบนแพลทฟอร์มอื่นๆ

เช่นกันหาก Anchor Protocol มีการใช้งานเยอะ UST จะมีการใช้งานมากขึ้น และ Luna จะถูกเผาทิ้งมากตาม ทำให้ราคา Luna สูงขึ้น

แต่ในทางกลับกันหาก UST มีอัตราความต้องการที่ลดลง Luna ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน

นอกจากการใช้งานบน Mirror และ Anchor ยังมีการใช้งานผ่านแพลทฟอร์มบัตรเงินสด CHAI อีกด้วย

จุดเด่นของ Terra

  • เป็นการผลิต Stable Coin ออกมาโดยไม่ต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน ลดความยุ่งยากในการระดมทุน และลดความเสี่ยงในสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ไม่ต้องกังวลว่ามีสินทรัพย์ค้ำประกันตามที่แจ้งจริงไหม (กรณี Tether) หรือ นำสินทรัพย์ค้ำประกันไปทำกำไรที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่
  • ทำให้ทั่วโลกสามารถเสมือนซื้อขายสินทรัพย์ที่จำกัดอยู่ในประเทศ เช่นหุ้นเทคโนโลยีอย่าง Amazon, Tesla, Facebook จากที่ไหนก็ได้บนโลก
  • ปริมาณการใช้งานเงินเสมือนบน Terra ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

จุดอ่อนของ Terra

  • มูลค่าของ Luna จะเพิ่มขึ้นต่อเมื่อมีการใช้ TerraUSD หรือ Stable Coin อื่นๆบนระบบ เช่น THT มากขึ้น ในทางกลับกันถ้าปริมาณการพิมพ์เงินลดลง มูลค่าของ Luna จะลดลงแบบรุนแรงกว่าขาขึ้น
  • ความปลอดภัยของระบบยังไม่ได้รับการพิสูจน์มากนัก อาจมีช่องโหว่ในการโจมตีมูลค่าสินทรัพย์เสมือนบนระบบได้ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ราคาผันผวนและไม่มีสภาพคล่องมากพอ
  • การสร้าง mAsset ไม่ได้เป็นการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจริง เป็นเพียงกระดานเสมือนที่ใช้เงินซื้อขายได้จริง โดยราคาเป็นไปตามราคาจริง เราจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการถือครองเหมือนการถือสินทรัพย์จริง เช่น เงินปันผล สิทธิการลงคะแนนเสียงในบริษัทมหาชน
  • ปริมาณเหรียญ 51% ของ Luna ถูกถือครองโดยทีมผู้สร้าง ผู้พัฒนา และนักลงทุน โดยใช้เหตุผลว่า จำเป็นเพื่อควบคุมให้ไม่เกิดการโจมตีค่าเงินบนระบบ
  • น่าหวาดเสียวว่า Terra Luna จะผิดกฏหมายเรื่องของการผลิตเงินโดยไม่ผ่านรัฐบาลกลาง (ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไปแล้วว่า THT ผิดกฏหมาย) เพราะมันเหมือนการสร้างเงินเอง เช่นเดียวกับ mAsset ที่อาศัย Blockchain ในการสร้างสินทรัพย์เสมือนที่ไม่มีอยู่จริงออกมาให้ซื้อขายกัน แต่เอาไปทำประโยชน์อื่นไม่ได้

สำหรับเหรียญ Luna ในมุมมองผม ยังอยู่ในช่วงพิสูจน์สมการ พิสูจน์ว่า ทฤษฎีการสร้างเงินขึ้นมาเองผ่านการระดมทุนด้วยเหรียญ Luna ใช้ได้จริงหรือไม่ และยังมีอีกเรื่องที่น่ากลัวกว่าคือประเด็นกฏหมาย ผมไม่ได้มีปัญหากับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของโอปป้าทั้งสองนะ (ไม่งั้นจะมานั่งเขียนเรื่องพวกนี้ทำไมจริงมั๊ย) จริงๆชื่นชมด้วยว่า เป็นแนวคิดที่ฉลาดมาก แต่ถ้ามองกันดีๆ Luna เหมือนเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมดิจิตอล แล้วมีการพิมพ์เงินขึ้นมาใช้เอง แค่ว่า เงินดังกล่าวมันมีค่าเท่ากับเงินจริงเท่านั้นเอง หลักการนี้อันตรายกับรัฐบาลทุกประเทศมากกว่าการสร้างเงินเสมือนที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันมาก ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะยอมรับเงินเสมือนที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันมากกว่า ผมเห็นด้วยกับธนาคารแห่งประเทศไทยครับ ผมจึงไม่ขอให้คริปโตชวนชิมกับ Terra และเหรียญในระบบอย่าง Luna หรือแม้แต่ Mir

อย่างไรก็ตามทิศทางการขยายตัวของ Terra ยังอยู่ในแดนบวก หากคิดจะลงทุนในช่วงที่ราคา Luna ตกลงมา อาจจะไม่เสี่ยงมากนัก เป็นเหรียญที่ขอบอกว่าต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลแต่ละประเทศว่าอย่างไร โดยเฉพาะรัฐบาลเกาหลีที่เป็นต้นกำเนิดของแพลทฟอร์ม

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League