อะไรคือ Bitcoin
อะไรคือ Ethereum
อะไรคือ ทรัพย์สินในจินตนาการที่มีตัวย่อว่า BNB ADA DOT ALPHA GRT XRP XLM มันเหมือนกับหุ้นที่ซื้อๆขายๆกันอยู่ทุกวันมั๊ย แล้วทำไมมันถึงมีราคาสูงถึงขั้นซื้อรถเทสล่าได้หนึ่งคัน

จุดกำเนิดอาจจะคล้ายๆกับที่ผมเริ่มเขียนเรื่องของ Pokemon Go คือ สุดท้ายท้ายสุด ผมยังคงต้องพึ่งพาข้อมูลจากเวบต่างประเทศในการทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Blockchain เพื่อที่จะศึกษาการลงทุนเกี่ยวกับเงินดิจิตอล หรือ Crypto Currency ให้ดีขึ้น งั้นทำไมเราไม่เอามาเขียนให้เพื่อนๆเข้าใจได้ง่ายๆแบบที่เราใช้เวลาทำความเข้าใจล่ะ


Blockchain คืออะไร

ในปัจจุบัน ถ้าเราฝากเงินให้กับธนาคาร สิ่งที่เราต้องมีคืออะไรครับ อาจจะเป็นบัตร ATM หรือสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อจะนำไปทำธุรกรรมถอนเงิน ฝากเงินกับธนาคาร คนที่เก็บข้อมูลว่า เรามีเงินอยู่เท่าไหร่คือ ธนาคาร ถ้ามองในอีกแง่คือ จำนวนเงินของเราถูกฝากอยู่ที่ตัวกลาง

พอผ่านตัวกลาง ความเสี่ยงบังเกิด ถ้าวันดีคืนดีธนาคารทำข้อมูลเราหายหรือโกง เงินเราก็หายไปด้วย อีกเรื่องที่เจ้าของเงินโดนเอาเปรียบคือ ตัวกลางมักจะหาวิธีเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบต่างๆ เช่น ส่วนต่างจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือการโอนเงินข้ามเขต หรือแม้แต่ค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชี ในบางครั้งดูไม่สมเหตุสมผลเอาเลย การโอนเงินข้ามเขตจริงๆมันก็คือการเปลี่ยนตัวเลขของบัญชีสองบัญชีที่อยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน แถมเงินที่เราเป็นเจ้าของ กลับถูกคนกลางนำไปเล่นแร่แปรธาตุก่อให้เกิดเป็นรายได้ โดยที่เราได้กลับมาเป็นดอกเบี้ยจำนวนน้อยนิด จนดอกเบี้ยแทบจะติดลบแล้วในทุกวันนี้

นักพัฒนากลุ่มหนึ่งจึงคิดค้นวิธีการเก็บข้อมูลขึ้นมาใหม่ โดยบอกว่า ต่อจากนี้ เราจะไม่มีคนกลางในการเก็บข้อมูลอีกต่อไปแล้ว มาช่วยกันเก็บข้อมูลพวกนี้กันไว้ทุกคนดีกว่า

เพื่อไม่จำเป็นต้องมีคนกลางอีกต่อไป นักพัฒนาใช้คอนเซปท์ที่ว่า ให้มองว่าข้อมูลหนึ่งชุดคือหนึ่งบล๊อค ฐานข้อมูลดังจะเกิดจากการนำบล๊อคมาต่อกันไปเรื่อยๆ ลักษณะเป็นลูกโซ่ สามารถมีคนที่จะนำชุดห่วงโซ่ดังกล่าวไปเก็บไว้ได้ในคอมพิวเตอร์กี่เครื่องก็ได้ในโลก ทุกครั้งที่มีการสร้างบล๊อคใหม่ขึ้นมา รอยต่อระหว่างบล๊อคแต่ละบล๊อคจะมีการเข้ารหัสที่เหมือนกันในทุกเครื่องเสมอ ถ้าเครื่องไหนรหัสส่วนนี้ผิดเพี้ยนไปจากเครื่องอื่นๆจะใช้งานห่วงโซ่นั้นไม่ได้อีกเลย โดยที่บล๊อคในแต่ละบล๊อคเมื่อถูกสร้างขึ้นมาแล้ว จะมีใครเข้าไปแก้ไขข้อมูลดังกล่าวอีกไม่ได้ ถ้ามีการเข้าไปยุ่งกับข้อมูล อย่าลืมว่าเครื่องอื่นๆในโลกจะเห็นว่าข้อมูลเราไม่เหมือนกับชาวบ้าน ข้อมูลชุดนั้นก็จะใช้งานในห่วงโซ่นั้นไม่ได้อีกเลย เช่นเดียวกัน

และเพื่อปลอดภัยยิ่งขึ้น ทุกๆเวลาที่กำหนด เป็นวินาที เป็นนาที รหัสระหว่างรอยต่อของบล๊อคจะเปลี่ยนไปเสมอ ทำให้แฮคเกอร์ไม่มีทางที่จะถอดรหัสดังกล่าวได้ และไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกนี้มีความเร็วที่สามารถถอดรหัสได้ไวขนาดนั้น

เมื่อไม่มีคนกลาง ค่าธรรมเนียมต่างๆ และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากตัวกลางก็จะหมดไปหรือถ้ามีก็ถูกมาก แถมโอกาสที่ข้อมูลจะสูญหายหรือโดนโกงแทบจะเป็นศูนย์เพราะอาศัยการยืนยันจากหลายแหล่ง แฮคไม่ได้ ทำเทียมไม่ได้

แน่นอนมันก็มีข้อเสียเช่นกัน เมื่อไม่มีคนกลาง การตรวจสอบก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีการกำหนดกฏเกณฏ์ว่าใครจะใส่ข้อมูล หรือใช้งานข้อมูลดังกล่าว ถ้าถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด จะไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมได้

คอนเซปท์นี้ ถูกพิสูจน์ว่าใช้ได้จริง หลังจากที่มีบุคคลลึกลึบนามว่า Satoshi Nakamoto นำคอนเซปท์ดังกล่าว มาสร้างสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin ขึ้นมา และเป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักกับ Crypto Currency

Written By

Yodfah

Head of Information Technology at Thai Optical Group plc., Digital Transformation Consultant, Crypto Bagman creator และ ผู้แปลเนื้อหาเกมและแอดมิน Pokémon Go Thailand League